ป้องกันก่อนเป็น เส้นเลือดขอด

ป้องกันก่อนเป็น เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด เกิดจากความผิดปกติของลิ้นและผนังหลอดเลือดดำ ปกติเวลาที่เรายืน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเลือดในเส้นเลือดให้ลงไปสู่สนามแม่เหล็กโลก ทำให้เลือดที่ขามีแรงดันในผนังเส้นเลือดมากกว่าเลือดที่อยู่ส่วนบนของร่างกาย หากมีการอุดตันของลิ้นในหลอดเลือดดำ หรือมีการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดดำร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือดส่วนปลาย จึงทำให้ผนังหลอดเลือดดำที่ชั้นใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัวแบบผิดปกติ กลายเป็นเส้นเลือดขอดตามมา

อาการของเส้นเลือดขอด
โดยปกติคนที่เป็นเส้นเลือดขอดจะมีอาการทางกายที่สังเกตเห็นได้ คือ มีเส้นเลือดโป่งพองสีเขียวคล้ำเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณตาตุ่ม น่อง ขาพับ ต้นขา โคนขา สะโพก หน้าท้อง ฯ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึงบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะก่อนมีประจำเดือน อาการเหล่านี้จะยิ่งแสดงให้เห็นมากขึ้น 
ในรายที่เป็นหนัก หากยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง จะยิ่งมีอาการปวดขาและเท้าบวม เนื่องจากปริมาณของเลือดและน้ำเหลืองไปคั่งบริเวณขาและเท้ามากกว่าคนปกติ ทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมานอกเส้นเลือด เกิดอาการเกร็งผิดปกติของกล้ามเนื้อจนทำให้เป็นตะคริวในตอนกลางคืน และรู้สึกคันที่ผิวหนังบริเวณนั้น หากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเส้นเลือดในบริเวณนั้นแตกและเป็นอันตรายได้

ใครคือกลุ่มเสี่ยง
อาการเส้นเลือดขอดมักพบในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40–50 ปี ผู้สูงอายุ คนอ้วน และหญิงมีครรภ์ ทั้งยังพบอีกว่า หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อน ก็มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป 
ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุน้อยก็มีอัตราเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนานๆ เช่น พนักงานต้อนรับ บริกรร้านอาหาร ทันตแพทย์ พนักงานในห้างสรรพสินค้า  รวมทั้งพนักงานบริษัทที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เป็นต้น

การรักษาอาการเส้นเลือดขอด
ปัจจุบันมีวิธีรักษาอาการเส้นเลือดขอดอยู่สองแนวทาง คือ การรักษาแบบประคับประคอง โดยจะเน้นหนักไปในทางการป้องกันและรักษาตามอาการ เช่น บริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด มีอาการปวดก็ให้ใช้การบีบนวด การเปลี่ยนอิริยาบถ หรือใส่ถุงน่องชนิดพิเศษเพื่อรัดประคองเส้นเลือดดำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยลดอาการขาบวม เป็นต้น
การรักษาโดยการผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้เมื่อมีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น เท้าบวมมาก มีแผลเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนั้นอักเสบ เป็นต้น

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มแรก :

1. ไม่ควรยืนหรือนั่งเฉยๆเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้แรงดันในเส้นเลือดดำสูงขึ้นจนเกิดอาการเจ็บที่บริเวณเส้นเลือดขอดได้ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

 

2. หาเวลาออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับอายุ เช่น เต้นแอโรบิก ฝึกโยคะ การเดิน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ช่วยให้ลิ้นของเส้นเลือดดำเปิดปิดได้สะดวก และระบบเลือดในร่างกายมีการหมุนเวียนที่ดีขึ้น

 

3. หลีกเลี่ยงการสวมสเตย์หรือเสื้อผ้าที่รัดตึง เพราะจะยิ่งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดและลิ้นของเส้นเลือดดำทำงานลำบากขึ้น

 

4. พยายามเลือกนั่งบนเก้าอี้โซฟาปรับเอนที่มีที่พักเท้า และนอนยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ (ใช้หมอนหนุนบริเวณปลายเท้าหรือใต้หัวเข่า) จะช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวด ทำให้เส้นเลือดขอดมีขนาดเล็กลง

CR: คอลัมน์โรคภัยใกล้ตัว นิตยสารชีวจิต ฉบับ 200

--------------------

บทความที่คุณอาจสนใจ

เก้าอี้โยกและปรับเอนนอน ดีต่อคุณแม่และลูกน้อยอย่างไร?

เก้าอี้ปรับเอนนอนเพื่อดูแลผู้สูงอายุ

เก้าอี้ปรับเอนนอน ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ?

เหตุผลดีๆที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนั่งเก้าอี้โยกปรับเอน

4 ลักษณะเก้าอี้ เหมาะกับผู้สูงวัย

ประโยชน์ด้านสุขภาพของ เก้าอี้ปรับเอนนอน

บทความอื่นๆ >  คลิ้ก

  • แชร์